วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รายละเอียดในการพรรณนา



ในหนังสือ คำบรรยายโรงเรียนการประพันธ์ (ทางไปรษณีย์) ซึ่งไทยวัฒนาพานิชพิมพ์จำหน่ายเมื่อ นานมาแล้วมีคำอธิบายเกี่ยวกับการพรรณนา และยกตัวอย่างบทพรรณนาของนักเรียนผู้หนึ่งว่า

"มันยืนจังก้า เตรียมพร้อมที่จะตะครุบขับกัด ริมฝีปากบนทั้งสองย่นขึ้น มองแลเห็นเขี้ยวยาวเรียงเป็นตับ เสียงคำรามฮื่ออย่างดุเดือดอยู่ในลำคอ ดวงตาขุ่นขวาง กล้ามเนื้อเกร็งหางแข็งไม่มีตก ขนตามตัวลุกชัน ขนหางพอง และจะไล่กวดอย่างเหยียดทีเดียว ถ้าศัตรูนั้นวิ่งหนี"

ทางโรงเรียนแก้ไขบทพรรณนาข้างต้นเป็นดังนี้

"มันยืนจังก้า แยกเขี้ยวขาว คำรามฮื่อๆ ตาขวาง ขนพอง เตรียมพร้อมจะกระโดงับหรือไล่กวด"

วิธีแก้ไขของโรงเรียนการประพันธ์ก็คือ ตัดทอนรายละเอียดลงตามที่เข้าใจกันนั้น การพรรณนาคือการกล่าวเรื่องราวอย่างละเอียด บทบรรณนาที่มีรายละเอียดมากจึงน่าจะดีกว่าบทบรรณนาที่มีรายละเอียดน้อย แต่ตัวอย่างตัวอย่างบทพรรณนาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ผู้พรรณนาไม่ควรต้องกล่าวถึงทุกสิ่งที่นึกเห็นแต่ควรเลือกเฉพาะสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นจินตนาการของผู้อ่าน เคยมีผู้กล่าวเปรียบเทียบว่า

คนเราดีกว่ากล้องถ่ายรูปธรรมดาตรงที่ว่ารู้จักเลือก รู้จักวิเคราะห์ จัดลำดับภาพใหม่ เพื่อให้สิ่งที่ต้องการเน้นดูเด่นกว่าสิ่งอื่น สิ่งใดไม่สำคัญก็ตัดทิ้งไปเพราะถ้ายิ่งให้รายละเอียดมาก สิ่งที่ต้องการพรรณนาแทนที่จะชัดเจน ก็จะกลับพร่ามัวไป

การเลือกรายละเอียดในการพรรณนาอาจมีผลให้ผู้อ่านนึกเห็นสิ่งที่พรรณนาในแง่มุมต่างๆกันเป็นต้นว่าห้องห้องเดียวกัน ผู้พรรณนาอาจเน้นให้เห็นความเป็นระเบียบของห้อง หรือความเก่าแก่ของห้อง หรือความงดงามของห้อง หรือความกว้างของห้อง หรือลักษณะนิสัยของเจ้าของห้อง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แสดงได้โดยรายละเอียดที่ผู้พรรณนาจะเลือกบอกแก่ผู้อ่าน

ในบางกรณี ผู้พรรณนามิได้ต้องการเพียงทำให้ผู้อ่านรู้สึกนึกเห็นสิ่งที่ตนพรรณนาเท่านั้น ยังต้องการแสดงอารมณ์ของตนด้วยว่าเป็นอย่างไร ในกรณีเช่นนี้ ผู้พรรณนาก็จำเป็นต้องเลือกเฉพาะรายละเอียดที่จะนำผู้อ่านไปสู่อารมณ์เช่นนั้น บทพรรณนาต่อไปนี้มีข้อบกพร่องที่ให้รายละเอียดอันทำให้อารณ์เปลี่ยนไป

"มองไปเบื้องหน้าฉันเห็นทะเลกว้าง หาดทรายยาวเหยียด ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกเปล่าเปลี่ยวอ้างว้าง เด็กๆหลายคนวิ่งไล่จับกัน ส่งเสียงเกรียวกราวอยู่บนหาดดูน่าสนุก"

ตอนนั้น ผู้พรรณนาเขียนถึงทะเลกว้าง หาดทรายยาวเหยียดชวนให้รู้สึกเปลี่ยวเปล่าอ้างว้าง แต่ตอนท้ายเขียนถึงเด็กวิ่งไล่จับกันชวนให้รู้สึกสนุก ความรู้สึกทั้งสองขัดแย้งกัน น่าจะเลือกเขียนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

นววรรณ พันธุเมธา

1 ความคิดเห็น:

  1. เอ๊า ก็แบบว่าฉันรู้สึอ้างว้าง แต่ฉันก็รู้สึกสนุกสนาน ไปพร้อมๆกัน

    ทั้งสนุกและอ้างว้างไงฮะ

    ตอบลบ