วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปลาตีน


เราเรียกมันว่าปลาตีน เพราะปลาพวกนี้เหมือนมีตีน ๒ ตีนเดินไปบนเลนเวลาน้ำลง พบในเขตน้ำกร่อยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แปซิฟิกตอนใต้ ออสเตรเลีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ ตามหาดและชายน้ำที่เป็นโคลนเลน ในอ่าว ปากแม่น้ำ แม่น้ำ คลอง พบทวนน้ำขึ้นไปจนกระทั่งน้ำจืดก็มี

ปลาตีนมีมากมายหลายชนิด อยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก เป็นปลานาดเล็ก ตัวยาวประมาณ ๑๐ เซ็นติเมตร ตาทั้งคู่โปนขึ้นมาใกล้ๆกันเหนือหัว มองวัวได้กว้าง ช่วยให้มองเห็นศัตรูและเหยื่อได้ง่าย ปลาตีนสามารถหมุนดวงตาลงมาด้านล่างเพื่อให้ดวงตาสัมผัสของเหลวในกระบอกตา ทำให้ตาชื้นอยู่เสมอเวลาอยู่บนบก


ปลาตีนเป็นปลาที่น่าสนใจ มีความสามารถและลักษณะพิเศษต่างจากปลาอื่นๆหลายอย่าง ที่สำคัญคืออยู่บนบกได้นานมาก เวลาอยู่ในน้ำก็หายใจผ่านเหลือกตามวิธีเหมือนปลาอื่นๆโดยใช้ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ตามธรรมดาปลาอยุ่บนบกไม่ได้เพราะแผ่นเหงือกจะแห้งก็เลยหายใจไม่ออก แต่สำหรับปลาตีนตอนจะขึ้นมาเหนือน้ำ ปลาตีนทำให้ให้ช่องเหงือกพองขยายอมน้ำและอากาศไว้ วิธีนี้ช่องเหงือกก็จะเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา อยู่เหนือน้ำได้นานเป็นชั่วโมง เสียอย่างเดียวเมื่อหาอาหารได้เช่นหอยตัวเล็กๆเวลากลืนอาหาร น้ำและอากาศในช่องเหงือกก็จะถูกบีบไหลออกไป ปลาตีนต้องรีบลงไปในน้ำเพื่อเติมน้ำและอากาศเก็บไว้ในช่องเหงือกอีก

สิ่งที่คนสนใจเฝ้าดูปลาตีนอย่างหนึ่งก็คือ การเดินอย่างรวดเร็วไปบนเลน ตีนของมัน คือ ครีบอกซึ่งหนาและมีกล้ามเนื้อแข็งแรง ลักษณะคล้ายขา ใช้พยุงตัวได้ ปลาตีนเดินบนเลนโดยวิธียื่นตีนหรือครีบอกออกไปข้างหน้าแล้วลากตัวตามไป ปลาตีนบางชนิดมีอวัยวะดูดเป็นรูปกลมที่หน้าอก สำหรับยึดเกาะติดกับก้อนหินและต้นไม้


เวลาน้ำขึ้นปลาตีนมักไต่ขึ้นไปบนต้นไม้ในป่าชายเลน ใช้ครีบอกที่แข็งแรงเหนี่ยวขึ้นไป ส่วนอวัยวะดูดที่หน้าอกก็ใช้ยึดเกาะกับต้นไม้ได้ ชื่อสามัญภาษาอังกฤษของปลาตีน (Mudskipper) แปลว่า นักกระโดดเลน คงเนื่องมาจากปลาตีนชอบกระโดดไปบนเลนหรือบนผิวน้ำ ในฤดูผสมพันธุ์ ปลาตีนตัวผู้ชอบกระโดดสูงอวดตัวเมีย บางทีกระโดได้สูงถึง ๒๐ เซ็นติเมตร วิธีกระโดสูงก็บิดม้วนตัวไปข้างๆแล้วยืดตัวออกฉับพลัน ตัวจึงถูกดีดขึ้นสูง ถ้ามีตัวเมียสนใจการแสดง ตัวผู้ก็จะพาไปที่โพรงในเลนที่ขุดเตรียมเอาไว้ โพรงนั้นมีน้ำเต็ม ทั้งคู่อยู่ภายในรังเมื่อออกไข่และไข่ฟักเป็นตัวอ่อนแล้วต่อมาตัวอ่อนจะเปลี่ยนรูปเป็นปลาเหมือนพ่อแม่อย่างสมบูรณ์

ปลาตีนตัวผู้ปกป้องรักษาโพรงอย่างเข้มงวด ศัตรูของปลาตีนอาจเป็นปู หรือแม่แต่ปลาตีนตัวผู้ด้วยกันอาจต่อสู้ถึงขั้นรุนแรงกัดติดไม่ปล่อย แล้วยังมีงูน้ำซึ่งบุกรุกถึงโพรงในเลน และนกกระยางที่โฉบจิกกินปลาตีนบนชายเลน

ท่านผู้รู้บอกว่าที่เราเรียกว่าปลาตีนนั้นมีอยู่ ๒ วงศ์  (family)  อย่างที่เล่ามาข้างต้นอยู่ในวงศ์เพอริโอทาลมิดี (Periophthalmidae) อีกพวกหนึ่งอยู่ในวงศ์เบลนนิอิดี (Bleniidae) เป็นปลาเล็กและว่องไว สีสวยงาม อาศัยอยู่ตามชายทะเล ลำตัวมีหลายขนาดแล้วแต่สกุลและชนิด แม้แต่รูปร่างก็ต่างกัน บางชนิดตัวยาว ครีบหลังยาว จะมีครีบอกอยู่ใกล้คอ บางชนิดอยู่นอกน้ำได้เป็นเวลานานโดยเกาะอยู่ตามหิน เท่าที่ทราบมีพวกเบลนนิอิดีอยู่ในเมืองไทย ๔ สกุล รวม ๑๐ ชนิด ชนิดหนื่งเรียกว่าปลาตีนสยาม  Salarias siamensis, H.M. Smith


วิกรณ์

1 ความคิดเห็น:

  1. ยังไม่เคยได้ยินว่ามีใครเอาปลาตีนมากินนะ

    ไม่รู้จะแซ่บๆเหมือนกินตีนจริงๆมั้ย //แบ๊วๆ

    ตอบลบ